นายทรัมป์ ได้ตอบรับคำเชิญเยือนสหราชอาณาจักรของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่แผนการเยือนสหราชอาณาจักรดังกล่าวได้จุดกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวาง และทำให้นายทรัมป์เปลี่ยนใจเลื่อนแผนการนี้ออกไป โดยสื่อมวลชนรายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ต้องการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรในช่วงที่มีกระแสต่อต้านเขาซึ่งอาจนำไปสู่การประท้วงจากประชาชน
ทั้งนี้ มีประชาชนเกือบ 2 ล้านคนร่วมลงนามในคำร้องฉบับหนึ่งที่คัดค้านการเยือนสหราชอาณาจักรในฐานะประมุขแห่งรัฐ (State Visit) ของนายทรัมป์ นอกจากนี้ บรรดานักการเมืองอาวุโส เช่น นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ และนายทิม ฟาร์รอน อดีตหัวหน้าพรรคลิเบอรัลเดโมแครต ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเยือนของนายทรัมป์ โดยชี้ว่า นายทรัมป์เป็น “เรื่องน่าอับอายของอเมริกา”
นอกจากนี้ยังเกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดนายทรัมป์ จึงได้รับเชิญในทันทีหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียงไม่นาน เพราะในกรณีของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา นั้นใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่งหลังเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกกว่าที่เขาจะได้รับเชิญให้เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในฐานะประมุขแห่งรัฐ
นางเมย์ยื่นคำเชิญนายทรัมป์ในช่วงที่เขาจุดกระแสไม่พอใจจากทั่วโลกด้วยการเสนอมาตรการห้ามพลเมืองจากประเทศมุสลิม 7 ชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งนายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนแสดงการต่อต้านมาตรการดังกล่าว โดยระบุว่า “สหราชอาณาจักรไม่ควรปูพรมแดงต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้มีนโยบายที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ทั้งหมดที่เรายึดถือ”
การเลื่อนแผนเยือนสหราชอาณาจักรของนายทรัมป์ ยังได้รับการยืนยันในพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีในพระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาอังกฤษอย่างเป็นทางการ ที่ไม่มีการเอ่ยถึงแผนการเดินทางเยือนอังกฤษของผู้นำสหรัฐฯ ในปีนี้
ตามปกติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองจะทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่เป็นประมุขแห่งรัฐปีละประมาณ 1-2 คน โดยพระองค์ทรงให้การต้อนรับประมุขของรัฐต่าง ๆ มาแล้ว 109 ครั้งด้วยกันนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ.1952 ซึ่งงานในลักษณะนี้จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีพิธีกรรมเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็มีจุดประสงค์ทางการเมืองด้วย โดยรัฐบาลใช้งานนี้เพื่อต่อยอดผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักร