รัสเซียทูเดย์ – ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกซึ่งมีศักยภาพพุ่งเร็วกว่าเสียง 8 เท่า ถูกปล่อยออกจากฐานยิงจรวดแห่งหนึ่งในเมืองวูเมรา ภาคใต้ของออสเตรเลียเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ในโครงการร่วมระหว่างแคนเบอร์รากับวอชิงตัน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ก่อนหน้านี้จากสมาชิกคองเกรส ว่าเพนตากอนเมินเฉยตอบโต้แสนยานุภาพไฮเปอร์โซนิกของรัสเซียและจีน
การทดสอบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยหนึ่งที่มีกองทัพสหรัฐฯ และบริษัท โบอิ้ง ร่วมด้วย โดยรายงานข่าวระบุว่าจรวดไฮเปอร์โซนิกถูกยิงข้ามท้องฟ้าของออสเตรเลีย เมื่อไม่นานที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาที่แน่ชัด
วิดีโอของการทดสอบโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (13 ก.ค.) โดยคณะวิศกรรม, สถาปัตยกรรม และข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย หนึ่งในพันธมิตรของโครงการนี้ที่มีชื่อว่า HIFiRE (Hypersonic International Flight Research Experimentation Program หรือโครงการวิจัยทดสอบการบินระหว่างประเทศเร็วเหนือเสียง)
ปฏิบัติการทดสอบซึ่งดำเนินการภายใต้รหัส HyShot 5 หรือ HiFiRE 4 คือความพยายามร่วมระหว่างเหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์, ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวงกลาโหมออสเตรลีย, ห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐฯ (AFRL) และบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่ง ในนั้นรวมถึงโบอิ้งและบีเออี ซิสเต็มส์
โครงการมูลค่า 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ดำเนินการทดสอบไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ในนั้นรวมถึงการทดสอบที่ฮาวายและนอร์เวย์ในปี 2012
อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งล่าสุดมีขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ บางส่วน ต่อปฏิกิริยาของเพนตากอนที่นิ่งเฉยต่อข่าวคราวคำกล่าวอ้างแสนยานุภาพด้านขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของมอสโกและปักกิ่ง
มาไรซ์ เพย์น รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย ระบุในถ้อยแถลงแสดงความยินดีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เรียกการทดสอบครั้งนี้ว่าเป็นความสำเร็จ “ที่พาเราขยับเข้าใกล้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอีกขั้น”
เพย์นเน้นย้ำอย่างเจาะจงว่า บทบาทแห่งการทดสอบครั้งนี้คือการยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของกองกำลังป้องกันตนเองออสเตรเลีย พร้อมระบุว่าด้วยความช่ำชองด้านเทคโนโลยีขีปนาวุธเหนือเสียงจะช่วยให้ แคนเบอร์รา มีเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับตอบโต้ภัยคุกคามในอนาคต
ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้มีความเร็ว 8 มัค พอกับขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) แต่มันเหนือกว่าในด้านความคล่องแคล่ว