การออมเงิน…ทำให้เศรษฐกิจพังจริงหรือ?
.
ผมขอเกริ่นถึงนิยามของเศรษฐศาสตร์ก่อนนะครับ คำว่าเศรษฐศาสตร์นิยามของมันคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำถามคือแล้วระบบเศรษฐกิจที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงหรือไม่ ? วันนี้ Trader Intergold จะมาเล่าให้ฟัง
.
มนุษย์ทุกคนมีเวลาเท่ากันคนละ 24 ชั่วโมง ถ้าเราเอาทรัพยากรเวลาของคนทั้ง 7,000 ล้านคนบนโลกมารวมกัน เราจะได้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดมาก้อนหนึ่ง
ต่อไปถ้าเราแปลงทรัพยากรก้อนนี้จากหน่วยของเวลาเป็นหน่วยเงินตรา เราก็จะได้ปริมาณเงินที่มีทั้งหมดบนโลกเช่นกัน การจัดสรรทรัพยากรก้อนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร ขึ้นอยู่กับกลไกทางเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาในราคาเช่น ราคาสินค้า ค่าแรง เป็นต้น มนุษย์จะเลือกตัดสินใจเอาเวลาของตนเองไปใช้กับอะไรขึ้นอยู่กับว่าสิ่งไหนจะเกิดประโยชน์และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมากที่สุด โดยมนุษย์สามารถเก็บความมั่งคั่งของตนเองโดยผ่านวิธีการที่ง่ายที่สุดในโลกคือการออม
.
คำถามคือ…ถ้าทุกคนพร้อมใจกันออมสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือไม่มีการจับจ่ายใช้สอย เมื่อขาดการจับจ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะหายไป กระทบไปถึงทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสุดท้ายก็จะเกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจจริงหรือไม่?
เมื่อตอนยังเป็นเด็กเราถูกโรงเรียนสอนให้รู้จักการออม ประหยัด เก็บหอมรอมริบ แต่ทำไมพอโตขึ้นมาในตำราเศรษฐศาสตร์กลับบอกเราว่าการออมมากเกินไปทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปัญหา
จริงๆแล้วต้องบอกก่อนว่าการออมนั้นไม่มีคำว่ามากเกินไป เนื่องจากการออมนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้ตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนว่าการใช้เงินหรือในอีกแง่ก็คือเวลาที่ตนเองเสียไปนั้นอย่างคุ้มค่าจริงๆหรือไม่ คงไม่มีชาวประมงที่จับปลาเก่งๆคนไหน อยากจะประหยัดเงินจนไม่ยอมเสียเงินซื้อรองเท้าใส่ และเลือกที่จะผลิตรองเท้าใช้เอง สาเหตุเพราะว่าการเสียเวลาจับปลา 1 วันของชาวประมงอาจจะสามารถหาเงินมาซื้อรองเท้าได้ 1 คู่ ซึ่งคุ้มค่ากว่าการเสียเวลา 2-3 วัน ในการผลิตรองเท้าขึ้นมาใส่เองอีกทั้งคุณภาพจะดีเหมือนเราซื้อหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ ทำให้สุดท้ายแล้วผู้คนไม่ได้ออมเงินมากเกินไป จะมีก็เพียงแต่เลือกออมและเลือกใช้ไปกับสิ่งที่คุ้มค่าจริงๆเท่านั้น
.
แต่ในทางกลับกันเงินที่ชาวประมงได้จากการจับปลา 1 วัน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี มูลค่าของมันอาจจะซื้อรองเท้าได้แค่ข้างเดียว เนื่องจากเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ชาวประมงก็อาจเลิกออมและใช้จ่ายเกินความจำเป็นจากรองเท้าที่คู่เดียวก็เพียงพอแล้ว ก็อาจจะซื้อเป็น 2 3 4 คู่ เพราะชาวประมงอาจจะประเมินแล้วว่าถ้าหากออมเงินต่อไปในอนาคตเงินที่มีก็อาจจะซื้อรองเท้าได้น้อยลง ทำไมเราต้องรอหล่ะก็ซื้อตอนนี้ไปเลย (ให้ลองนึกถึงการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ก็จะมีคนจำนวนมากไปรอเติมน้ำมันก่อนวันปรับ ซึ่งอาจจะเติมมากกว่าความต้องการจริงๆก็ได้ แต่ด้วยแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นทำให้การตัดสินใจ ต่างๆของคนมันผิดเพี้ยนไป) กลับมาที่ชาวประมง การตัดสินใจซื้อรองเท้าชองชาวประมงก็จะส่งผลให้ความต้องการรองเท้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ผู้คนหันมาเป็นช่างรองเท้ามากขึ้นและผลิตรองเท้ามาขายมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เป็นผลมาจากการถูกกลไกของเงินเฟ้อบีบให้การตัดสินใจในการเลือกใช้ทรัพยากรของมนุษย์ผิดเพี้ยนและไม่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมีการเอาทรัพยากรเวลาไปผลิตรองเท้ามากเกินความจำเป็น
.
ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วความคิดเห็นของผมคือ การออมไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจพัง แต่เป็นการทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปในแบบที่มันควรจะเป็น ผู้ผลิตผลิตสินค้าที่มีคนต้องการจริงๆ ผู้บริโภคใช้จ่ายไปกับสิ่งที่คุ้มค่าจริงๆ แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เป็นตัวทำให้ระบบเศรษฐกิจมีปัญหาก็คือคำว่า “เงินเฟ้อ” เพราะมันทำให้คนจับจ่ายเกินความจำเป็น ความต้องการในตลาดผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงๆ อันนี้จึงเรียกว่าเป็นปัญหาครับ
.
บทความนี้จึงอยากชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้คนถูกบีบให้เร่งใช้เงิน(หรือในอีกแง่ก็คือการใช้เวลา) ผ่านการพิมพ์เงินและทำให้เงินเฟ้อต่างหากที่เป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจ การที่ผู้คนต้องใช้เงินไปกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ต้องการจริงๆ เพียงแค่รีบใช้เงินก่อนที่เงินในกระเป๋าจะด้อยค่าไปมากกว่านี้
และเป็นการตั้งคำถามว่าระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่หรือไม่
.
ถ้าเพื่อนๆคนไหนมีคำถามหรือไม่เข้าใจตรงส่วนไหนก็ Comment เข้ามาเพื่อสอบถามกันได้นะครับ
ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้า
หรือถ้าชอบบทความนี้ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจ และให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก Trader Intergold ด้วยนะครับ