สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาแสดงความกังวลหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นางเฟเดริกา โมเกรินี หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของ EU ออกแถลงการณ์โดยเน้นย้ำว่า EU สนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ และจุดยืนดังกล่าวยังคงเดิม
“เป้าหมายของทั้งสองฝ่าย (อิสราเอลและปาเลสไตน์) ต้องได้รับการเติมเต็ม และต้องเจรจากันเพื่อให้ได้แนวทางในการแก้สถานะของเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงในอนาคตของทั้งสองรัฐ” เธอกล่าว
เธอระบุว่า EU รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับการประกาศของปธน.ทรัมป์ และผลพวงของมันอาจจะกระทบต่อความสงบสุขของภูมิภาคในวันข้างหน้า พร้อมกับเรียกร้องให้ “ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งในพื้นที่และภูมิภาคสงบและอดทนอดกลั้นเพื่อป้องกันเหตุการณ์บานปลาย”
“แนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ ซึ่งมีการเจรจาพูดคุยแล้วและสามารถเติมเต็มเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายได้นั้น ถือเป็นทางออกเดียวบนหลักความจริง ที่จะมอบความสงบสุขและความมั่นคงอันยืนยาวที่ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์สมควรได้รับ” นางโมเกรินีกล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล พร้อมกับเปิดเผยแผนการย้ายสถานทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม
“ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะรับรองอย่างเป็นทางการให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว” ปธน.ทรัมป์กล่าวในการแถลงต่อชาวอเมริกันที่ทำเนียบขาว
“ประธานาธิบดีหลายคนก่อนหน้านี้ได้ให้สัญญาในเรื่องนี้ในการรณรงค์หาเสียง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งในวันนี้ ผมกำลังทำตามคำสัญญาของผม” ปธน.ทรัมป์กล่าว
ปธน.ทรัมป์กล่าวต่อไปว่า การตัดสินใจของเขาไม่ได้มีความประสงค์ที่จะขัดขวางกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ โดยสหรัฐจะให้การสนับสนุนแนวทางในการตั้งรัฐปาเลสไตน์ และอิสราเอลควบคู่กัน หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกัน
ผู้นำสหรัฐระบุว่า เขาจะสั่งการให้มีการเริ่มต้นกระบวนการในการออกแบบ และก่อสร้างสถานทูตสหรัฐในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาหลายปี และหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะถือเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อสันติภาพในตะวันออกกลาง
การดำเนินการของปธน.ทรัมป์ ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายปี 1995 ของสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการย้ายสถานทูตสหรัฐไปยังกรุงเยรูซาเลม ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐหลายคนก่อนหน้านี้ เช่น บิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามา ต่างก็ใช้คำสั่งประธานาธิบดีเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป เนื่องจากวิตกว่าจะกระพือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง