ไทยโพสต์ * หอการค้าญี่ปุ่น-ไทย เผยต่างชาติยังเชื่อมั่นลงทุนไทย จี้รัฐบาลเร่งลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ใน EEC ปรับปรุงระบบศุลกากร ด้าน ‘ซีพี’ ยังได้ไปต่อทำรถไฟสามสนามบินนัดถกต่อวันที่ 22 ก.พ.นี้
นายทสึโยชิ อิโนะอุเอะ กรรมการผู้จัดการ หอการค้าญี่ ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) เปิดเผยว่า หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้สำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในปี 2561 โดยสำรวจไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิก JCCB จำนวน 1,761 ราย พบว่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index : DI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 34 ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ปรับตัวอยู่ที่ 29 และคาดการณ์ในช่วงแรกของปี 2562 อยู่ที่ 25 ซึ่งค่า DI มีค่าเป็นบวกติดต่อกันถึง 7 ช่วงการสำรวจซึ่งสะท้อนว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการดำเนินธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่ระบุประเด็นการพัฒนาและปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับศุลกากร รวมถึงการบังคับใช้ 51% ส่วนประเด็นรองลงมา ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 46% การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค 43% และการพัฒนาและการปรับปรุงการนำระบบภาษีมาปฏิบัติใช้ เช่น ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล 35%
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถึงนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในประเด็นนี้ บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายที่เป็นประโยชน์มากที่สุด คือ แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC รองลงมา คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนานที่สุดถึง 13 ปี และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรกล
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติในไทย จนถึงขณะนี้ยังคงมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขายการลงทุน และการลงทุนใหม่ แต่ต้องการให้ไทยเดินหน้าผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยนักลงทุนญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดจำนวน 334 โครงการ คิดเป็น 32% ของโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ขณะเดียวกันยังถือเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในพื้นที่ EEC ด้วยมูลค่าการลงทุน 109,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งหมด” นายกลินท์กล่าว
นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ในฐานคณะอนุกรรมการเจรจาการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) กล่าวภายหลังเจรจากับตัวแทนกลุ่ม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด นานกว่า 6 ชม.ว่า การเจรจาข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request for Proposal (RFP)) กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องยากได้จบแล้วในวันนี้หลังจากได้เจรจามา 3 ครั้งแล้ว จากนี้จะนำข้อสรุปทั้งหมดนำเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ช่วงบ่าย
“ในส่วนที่เป็นเรื่องยากและเจรจากันได้ ได้ข้อสรุปในส่วนชุดที่ 2 เรื่องการเจรจายากวันนี้จบลงแล้ว จะนำการเจรจาทั้ง 3 ครั้งสู่คณะกรรมการคัดเลือกในศุกร์นี้” นางพฤฒิพรกล่าว
นางพฤฒิพรกล่าวว่า คณะ อนุกรรมการได้เจรจาแล้วพิจารณาเห็นว่าบางข้อไม่สามารถรับพิจารณาได้ ได้แก่ การทำส่วนต่อขยาย การปรับย้ายสถานี แต่บางข้อเสนอรับไว้พิจารณาได้ แต่จะต้องมีการแก้ไข ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับ RFP ซึ่งมีพอสมควรไม่มากนัก.
ขอบคุณที่มา : RYT9